Image
CML ตอนที่ 16 การตรวจการกลายพันธุ์

การตรวจการกลายพันธุ์

ผู้ป่วยที่ได้ผลการรักษาเป็นชนิด failure คือไม่ตอบสนองตามที่ควรจะเป็น หรือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนยา ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มยาตัวใหม่ ควรตรวจดูว่ามี การกลายพันธุ์หรือไม่ เป็นตัวไหน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจใช้ยาที่เหมาะสมต่อไป
การตรวจการกลายพันธุ์นั้น สามารถทำได้ไม่กี่แห่งเท่านั้น เท่าที่ทราบ โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นที่เดียวที่รับตรวจให้กับผู้ป่วยจากข้างนอกโรงพยาบาล
การกลายพันธุ์ตัวที่สำคัญที่สุดคือตัว T315I เพราะยาทั้ง 3 ตัวคือ อิมาทินิบ นิโลทินิบ และดาซ่าทินิบ ล้วนใช้ไม่ได้ผลทั้งนั้น จำเป็นต้องใช้ยาโพน่าทินิบ ซึ่งยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย คาดว่ายาโพน่าทินิบน่าจะได้ทะเบียนให้จำหน่ายในประเทศไทยได้ในปี 2562 แต่ขณะนี้ ยาตัวนี้ อยู่ในบัญชีของยาที่เบิกไม่ได้ ทั้งๆที่ยังไม่มีจำหน่าย ซึ่งเมื่อมียาจำหน่ายแล้ว และผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ตัวที่เป็น T315I แล้วไม่สามารถเข้าถึงยาได้เพราะเบิกไม่ได้ ก็จะลำบาก เพราะผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ตัวนี้ แล้วไม่ได้ยาที่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะมีชีวิตได้ไม่นาน
ผู้ป่วยที่มีวินัยในการรับประทานยาไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลืมหรือขาดการรับประทานยาบ่อยๆ มีโอกาสที่จะไม่ได้ผลในการรักษามาก และมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ได้มากเช่นกัน ดังนั้น วินัยในการรับประทานยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ถ้าต้องการให้ได้ผลการรักษาที่ดี เนื่องจากตอนแรกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยมักจะกังวล
ดังนั้นในช่วงแรก อาจจะยังมีวินัยในการรับประทานยาดี แต่พอนานเข้า รู้สึกสบายดี วินัยก็จะเริ่มหย่อนยาน และเป็นสาเหตุของการรักษาไม่ได้ผล หรือมีการกลายพันธุ์ตัวที่รุนแรง