Image
CML ตอนที่ 4 การรักษา

การรักษา

ในปัจจุบัน การรักษาโรคนี้ แตกต่างไปจากการรักษาก่อนปี 2544 แล้ว ปัจจุบันนี้ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานอีกต่อไปแล้ว  ปัจจุบันการรักษาที่เป็นมาตรฐานคือการให้ยาที่มุ่งทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง (targeted therapy)โดยใช้ยาในกลุ่ม tyrosine kinase inhibitors (TKIs)

ซึ่งขณะนี้มียา 3 ตัวในประเทศไทยคือ.

1) อิมาทินิบ เป็นยาตัวแรก ในระยะเรื้อรังใช้ในขนาด 400 มก ต่อวัน รับประทานวันละครั้ง พร้อมอาหาร
สำหรับระยะลุกลามหรือระยะเฉียบพลัน ใช้ขนาด 600-800 มก ต่อวัน ให้รับประทานยาพร้อมอาหาร และน้ำแก้วใหญ่.

2)ผู้ป่วยที่ไม่ได้ผลต่ออิมาทินิบ หรือทนต่อผลข้างเคียงของอิมาทินิบไม่ได้ ให้ใช้นิโลทินิบ ขนาด 400 มก ทุก 12 ชั่วโมง ต้องรับประทานตอนท้องว่าง คือ งดอาหาร 2 ชั่วโมงก่อนทานยา และงดอาหาร 1 ชั่วโมงหลังทานยา
จำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แนะนำ เพราะอาหารจะทำให้การดูดซึมของยาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาหารที่มีไขมันสูง จะยิ่งมีผลมาก ส่งผลต่อการรักษา วิธีดีที่สุดคือตื่นนอน( ซึ่งท้องว่างอยู่) ให้ทานยาเลย แล้วหลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมงจึงรับประทานอาหารเช้า. และนับไป 12 ชั่วโมง จึงจะรับประทานยามื้อที่ 2 ของวัน โดยต้องงดอาหาร 2 ชั่วโมงก่อนยามื้อที่ 2
ผู้ป่วยที่รับประทานทั้งอิมาทินิบและนิโลทินิบ ต้องหลีกเลี่ยงการทานผลไม้จำพวกส้ม มะเฟือง และทับทิม รวมทั้งน้ำของมันด้วย

3) ผู้ป่วยที่ไม่ได้ผลต่อนิโลทินิบ หรือทนต่อผลข้างเคียงไม่ได้ ให้ใช้ ดาซ่าทินิบ ขนาด 100 มก ต่อวัน รับประทานวันละครั้ง. อาหารไม่มีผลต่อยา ทานยาก่อนอาหาร หรือหลังอาหารก็ได้ ควรงดรับประทานผลไม้ตระกูลส้ม รวมทั้งน้ำส้มด้วย

ยาทั้ง 3 ตัวอยู่ในบัญชียา จ2 ดังนั้นผู้ป่วยทุกสิทธิ์ สามารถเข้าถึงยาได้ แต่ต้องเริ่มจากตัวที่ 1 ก่อน ถ้าไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงมาก จึงสามารถไปใช้ตัวที่ 2 ถ้าตัวที่ 2 ไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงทำให้ใช้ต่อไม่ได้ จึงสามารถไปใช้ตัวที่ 3 นอกจากมีเหตุผลที่ทำให้ใช้ตามลำดับไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ที่ดื้อต่อนิโลทินิบ ก็อาจจะเปลี่ยนจากอิมาทินิบไปเป็นดาซ่าทินิบเลยโดยไม่ต้องผ่านนิโลทินิบก่อน เป็นต้น

เดิมผู้ป่วยในสิทธิ์บัตรทอง ได้รับยาอิมาทินิบผ่านโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ (จีแพบ) แต่เนื่องจากสิทธิบัตรยาตัวนี้หมดอายุเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม2561 ดังนั้น คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังจะได้รับยาต่อ เพียงแต่ ยังไม่ทราบว่าจะได้ยาตัวเดิม หรือยาที่ผลิตจากประเทศอื่น

ผู้ป่วยในสิทธิ์ข้าราชการบางรายอาจได้รับการรักษาด้วย นิโลทินิบ ในขนาด 300 มก ทุก 12 ชั่วโมง เป็นการรักษาตั้งแต่ต้นแทน ออมาทินิบ เนื่องจาก นิโลทินิบขนาด 300 มก ทุก 12 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าอิมาทินิบ 400 มก ต่อวันและได้ผลดีกว่าและเร็วกว่าอิมาทินิบ แต่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องขออนุมัติจากกรมบัญชีกลางจึงจะใช้ได้ สำหรับสิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์บัตรทอง ไม่สามารถเข้าถึงยานี้ได้

4) ยาโพน่าทินิบ ปัจจุบันยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่คาดว่าในอนาคต น่าจะได้รับทะเบียนให้จำหน่ายในประเทศไทย ยาตัวนี้จะได้ผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ชนิด T315I

นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้ยังมียาบอซูทินิบและราโดทินิบซึ่งไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย