การติดตามการรักษา
1)ก่อนเริ่มต้นการรักษา ต้องเจาะไขกระดูกดูว่ามีฟิลาเดลเฟียโครมโมโซมหรือไม่เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จริง
2) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ดิฉันจะเจาะ PCR ดูระดับของ bcr-abl ก่อนการรักษาเสมอ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลหลังการรักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีฟิลาเดลเฟียโครโมโซมตอนวินิจฉัย ก็จำเป็นต้องตรวจดูว่ามี bcr-abl หรือไม่ ถ้ามีก็ยังถือว่าเป็นโรคนี้
3) ดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC)
4) ดูค่าน้ำตาลในเลือด ตลอดจน การทำงานของตับ ไต ค่าเกลือแร่ในเลือดเป็นระยะๆ จากการติดตามผู้ป่วยมานานเกิน 10 ปี พบว่าผู้ป่วยหลายรายมีผลเลือดต่างๆผิดปกติได้โดยไม่มีอาการอะไร. ดังนั้นถ้าไม่ได้ตรวจก็จะไม่ทราบ
5) หลังการรักษา ปกติจะตรวจดูว่าฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงเป็นเท่าไรแล้ว ที่ 3,6,12 เดือนหลังได้รับยา
6)ตรวจทางโมเลกุลโดยวิธีPCR เพื่อดูระดับของ bcr-abl ในเลือด ที่ 3,6,12 เดือนหลังการรักษา
รายละเอียดของผลข้อ 5 และ 6 จะกล่าวในตอนต่อไป
ความคาดหวังผลการรักษา
เราควรจะประเมินผลการรักษาว่าเป็นอย่างไร หลังจากรับประทานยาไปแล้ว 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน โดยดูตามมาตรฐานของยุโรป (European Leukemia Net, ELN 2013) ซึ่งมีผลการประเมินเป็น 3 แบบคือ
1) Optimal response คือได้ผลตามเป้าหมาย
2)เป็น warning คืออยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ในกรณีนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาตัวเดิมต่อไปก่อน แล้วดูผลการรักษาอีกครั้ง เช่น ที่ 3 เดือน ได้ผลเป็น warning ก็อาจรอดูผลที่ 6 เดือน แล้วค่อยตัดสินใจ
3) เป็น failure คือไม่ได้ผลจากการรักษาในกรณีเช่นนี้ ก็น่าจะพิจารณาเปลี่ยนยาเลย
ความคาดหวังผลของการรักษา
ในตอนที่ 12 ได้กล่าวแล้วว่ามีการตอบสนองต่อการรักษา 3 แบบคือ optimal response, warning และ failure
ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงกรณี optimal response ก่อน
1)เมื่อเริ่มให้การรักษาใด้ครบ 3 เดือน ตามมาตรฐานขแงยุโรป(European Leukemia Net, ELN 2013) ที่ 3 เดือน อาการทุกอย่างที่เคยมี ต้องหายไปแล้ว ม้ามถ้าเคยโต ควรจะตรวจไม่พบแล้ว ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ควรจะปกติแล้ว เจาะไขกระดูกควรเหลือฟิลาเดลเฟียโครโมโซมน้อยกว่า 35% และค่าbcr-abl ควรน้อยกว่า 10% IS
2) หลัง 6เดือน ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมควรเป็นศูนย์แล้ว และ bcr-abl ควรต่ำกว่า 1%IS
3) ที่ 12 เดือนbcr-abl ควรต่ำกว่า
0.1%IS
ถ้าผู้ป่วยได้ผลตามนี้ ถือว่าตอบสนองต่อการรักษาดี ให้รับประทานยาเดิมต่อไป และติดตามเป็นระยะๆ
ปัจจุบัน หมอหลายคน เลือกตรวจเฉพาะ ทางโมเลกุลเท่านั้น และตรวจที่ 6 เดือนเลย ไม่ตรวจที่3 เดือน ในความเห็นของดิฉัน คิดว่าควรตรวจที่ 3 เดือนด้วย เพราะข้อมูลที่ 3 เดือน ค่อนข้างสำคัญ และการตรวจไขกระดูกก็ยังเป็นการตรวจที่สำคัญอยู่ จนกว่าจะไม่พบฟิลาเดลเฟียโครโมโซมแล้ว จึงอาจจะติดตามดูเฉพาะการตรวจทางโมเลกุลเท่านั้น
สำหรับข้อกำหนดว่าการตอบสนองเป็นชนิด warning คือ
1) ที่ 3 เดือนยังมีฟิลาเดลเฟียโครโมโซมระหว่าง 36-95% หรือ การตรวจทางโมเลกุลได้ค่า bcr-abl เกิน 10%IS
2) ที่ 6 เดือน ยังมีฟิลาเดลเฟียโครโมโซม 1-35% และ bcr-abl ระหว่าง 1-10%
3) ที่ 12 เดือน ยังมีค่า bcr-abl ระหว่าง 0.1- 1%IS
4) ที่เวลาใดเวลาหนึ่งมีความผิดปกติทางโครโมโซมเพิ่มขึ้นในเซลล์ที่ไม่มีฟิลาเดลเฟียโครโมโซม เช่นมี คู่ที่ 7 หายไปเป็นต้น
ผู้ป่วยที่ได้ผลแบบ warning แพทย์อาจจะยังให้รับประทานยาตัวเดิม และติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินครั้งต่อไปก็ได้
สำหรับคนที่ถือว่าเป็น failure คือไม่ตอบสนองต่อการรักษาคือ คนที่ตอบสนองต่อการรักษาดังนี้
1) ที่ 3 เดือน ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดยังไม่ปกติ และ/หรือยังมีฟิลาเดลเฟียโครโมโซมเกิน 95%
2) ที่ 6เดือน ยังมีฟิลาเดลเฟียโครโมโซมมากกว่า 35% และ/หรือ มี bcr-abl มากกว่า 10%
3) ที่ 12 เดือน ยังมีพบฟิลาเดลเฟียโครโมโซมอยู่ และ/หรือ bcr-abl เกิน 1% IS
4) เวลาใดเวลาหนึ่ง มีผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดผิดปกติ( หลังจากที่เคยปกติแล้ว) หรือมีการกลับมาของฟิลาเดลเฟียโครโมโซม หลังจากที่เคยหายไปแล้ว หรือมีการกลายพันธุ์หรือค่า bcr-abl ที่เคยต่ำกว่า 0.1%IS แล้ว เพิ่มขึ้นมาเกิน 0.1% IS หรือมีความผิดปกติทางโครโมโซมเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ข้อใดข้อหนึ่งตามข้างบน ก็ถือว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษา จำเป็นต้องเปลี่ยนยา