Image
CML ตอนที่ 6 ผลข้างเคียงของยาอิมาทินิบ

ยาทุกตัว ย่อมมีผลข้างเคียงทั้งนั้น

ยาในกลุ่ม TKIs ก็ไม่มียกเว้น ยาในกลุ่ม TKIs มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่คล้ายกัน แต่ก็มีผลข้างเคียงของแต่ละตัวเด่นด้วย ดังนั้น จะแยกพูดถึงแต่ละตัวเป็นตอนๆไป

ผลข้างเคียงของยาอิมาทินิบที่พบได้แก่

1) บวมหน้าหรือบวมตามตัว ตามแขนขา. ส่วนใหญ่ ถ้ารับประทานในขนาดวันละ 400 มก อาการบวมมักเป็นไม่มาก อาจจะแค่รู้สึกรำคาญเท่านั้น แต่ถ้าทานวันละ 600 หรือ 800 มก อาการบวมอาจจะมากถึงขนาดบวมทั้งตัวได้
2) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือ ปวดกระดูก โดยมากมักเป็นใน2-3 สัปดาห์แรกๆ หลังจากนั้น อาการมักจะดีขึ้น ถ้าจำเป็น แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่พาราเซตามอล
3)ผื่นคันตามผิวหนัง. พบไม่บ่อย แต่บางครั้งอาจพบรุนแรงได้ จำเป็นต้องหยุดยาชั่วคราว ถ้าหลังจากหยุดยา แล้วผื่นหายไป แต่พอกลับมารับประทานอีก เกิดผื่นมากขึ้นอีก อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยา
4) นานๆครั้งอาจพบน้ำท่วมปอดได้ แต่โชคดีที่พบไม่บ่อย
5) คลื่นไส้, ท้องเสีย
6) ความผิดปกติทางเลือดที่พบได้คือ เม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าต่ำมาก จำเป็นต้องหยุดยาชั่วคราวจนกว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดกลับมาปกติจึงกลับมารับประทานใหม่ได้ ถ้าหลังจากกลับมารับประทานแล้วยังมีเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดต่ำอีก อาจจำเป็นต้องลดขนาดของยาอิมาทินิบ จาก 400 มก.ต่อวัน เป็น 300 มก.ต่อวัน แต่ไม่ควรลด... อ่านเพิ่มเติม...


Image
CML ตอนที่ 7 ผลข้างเคียงของยานิโลทินิบ

ผลข้างเคียงของยานิโลทินิบ

1) อาจมีผื่นคันที่ผิวหนัง
2) ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
3) ผมร่วง
4) ค่าเอ็นไซม์ของตับอ่อนสูงขึ้น
5)ค่าน้ำดีในเลือดสูงขึ้น ตลอดจนการทำงานของตับผิดปกติได้ ค่าเกลือแร่ในเลือดอาจผิดปกติ
6) อาจมีค่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หรือคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว อาจจะทำให้คุมค่าน้ำตาลในเลือดยากขึ้น
7) อาจมีความผิดปกติของคลื่นหัวใจ


Image
CML ตอนที่ 8 ผลข้างเคียงของยาดาซ่าทินิบ

ผลข้างเคียงของยาดาซ่าทินิบ 

1) น้ำท่วมปอดหรือหัวใจ เป็นผลข้างเคียงที่สำคัญมาก และเกิดได้ไม่ว่าจะทานยามานานแค่ไหน ซึ่งต่างจากยาอีก 2 ตัวที่ผลข้างเคียงมักเกิดในช่วงแรกๆหลังรับประทานยา ส่วนใหญ่เมื่อเกิดแล้ว ต้องหยุดยาไว้ก่อน รักษาตามอาการ จนกระทั่งน้ำท่วมปอดหรือหัวใจ(เกิดน้อยกว่า) หายไป เมื่อจะให้กลับไปรับประทานยาใหม่ โดยมากจะลดขนาดของยาจาก 100 มก. ต่อวัน เป็น 70 มก.ต่อวัน บางครั้ง ถึงแม้ลดขนาดของยาแล้วก็ยังอาจเกิดซ้ำได้
2)เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกง่าย
3)เม็ดเลือดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งต่ำได้มาก ทำให้ต้องหยุดยาชั่วคราว หลายรายอาจเกิดซ้ำๆ ทำให้ต้องหยุดยาบ่อย ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดี
4) การทำงานของตับผิดปกติ ค่าเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ คล้ายๆกับยาอีก 2 ตัว


Image
CML ตอนที่ 9 การคาดหวังจากการรักษา

การคาดหวังจากการรักษา

หลังจากที่พูดเกี่ยวกับโรค และการรักษา ตลอดจนผลข้างเคียงของยาแล้ว
ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องผลการรักษา การคาดหวังจากการรักษา
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอกล่าวถึงการตรวจทางห้องปฎิบัติการที่ สำคัญ 2 อย่าง

1) หมอตรวจไขกระดูกเพื่อดูอะไร จำเป็นต้องทำไหม 
การตรวจไขกระดูก เราตรวจที่สำคัญ 2 อย่างคือ
1.1 ตรวจดูลักษณะของเซลล์เพื่อจะได้บอกให้แน่ชัดว่าเป็นโรค CML จริง และอยู่ในระยะไหน
1.2 ตรวจดูว่ามีฟิลาเดลเฟียโครโมโซมหรือไม่ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าเป็นโรคนี้จริง
ผู้ป่วยตอนเริ่มวินิจฉัย น่าจะมีเซลล์มะเร็งในตัวประมาณ หนึ่งล้านล้านตัว เวลาเราดูโครโมโซม เราสามารถดูเซลล์หลัก สิบเท่านั้น ทางห้องปฎิบัติการที่ทำ นับได้อย่างมากก็ 30-40 ส่วนใหญ่ไม่เกิน 50 ตัว ดังนั้น ถึงแม้รักษาไปแล้ว ตรวจไม่พบตัวผิดปกติแล้ว ก็ยังมีเซลล์มะเร็งอยู่อีกจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจที่ละเอียดขึ้น ก็คือการตรวจทางโมเลกุลนั่นเอง โปรดติดตามตอนหน้าค่ะ


Image
CML ตอนที่ 10 การตรวจทางห้องปฎิบัติการที่สำคัญ

ในตอนที่ 9 ได้กล่าวแล้วว่ามีการตรวจทางห้องปฎิบัติการที่สำคัญ 2 อย่าง คือ

1) การตรวจไขกระดูก รายละเอียดได้กล่าวแล้วในตอนที่ 9
2) การตรวจเลือดดูทางโมเลกุล

ดังที่ได้กล่าวในตอนที่ 9 แล้วว่า ถึงแม้ว่าตรวจไม่พบฟิลาเดลเฟียโครโมโซม ก็ยังมีเซลล์มะเร็งอยู่อีกจำนวนมาก เพราะเริ่มต้นด้วยเซลล์มะเร็งหนึ่งล้านล้านตัว การตรวจไขกระดูกไม่พบ ไม่ได้หมายความว่าเซลล์มะเร็งหายหมดแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจที่ละเอียดขึ้น คือการตรวจทางโมเลกุล เรียกการตรวจนี้ว่า PCR ซึ่งเป็นการตรวจหายีน bcr-abl ซึ่งจะตรวจได้ละเอียดกว่าการตรวจไขกระดูก เพราะเป็นการตรวจเซลล์ในหลักหมื่น ในขณะที่การตรวจไขกระดูก ตรวจได้ในหลักสิบเท่านั้น แต่มีข้อที่ต้องทราบคือการตรวจทางโมเลกุลนี้ ต้องเป็นห้องปฎิบัติการที่สามารถรายงานผลเป็นตามมาตรฐานสากล คือรายงานเป็น %IS เท่านั้น ถ้าห้องปฎิบัติการที่ไม่มี%IS ถือว่ายังไม่ได้มาตรฐาน  ปัจจุบันโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์หลายแห่งสามารถทำได้แล้ว เมื่อตรวจทางโมเลกุลแล้ว ไม่พบ (undetected) ก็ไม่ได้หมายความว่าเซลล์มะเร็งหายหมดแล้ว เพราะยังเหลือเซลล์มะเร็งอยู่อีกจำนวนมากพอสมควรค่ะ. จึงยังคงต้องรับประทานยาต่อค่ะ